บทความวิชาการ : การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC)

 

การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม 

DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC)


นายกิตติโชติ ศุภกำเนิด

Mr.Kittichote Supakumnerd

วิศวกรชำนาญการพิเศษ

กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

                                                                                              

บทคัดย่อ

ที่ผ่านมาการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พบว่า ผู้ประกอบการยังไม่สามารถยกระดับกระบวนการผลิตให้ทันสมัยตอบโจทย์ตามแนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) และจากการสำรวจข้อมูลระดับอุตสาหกรรมของไทยมีค่าเฉลี่ยประมาณ Industry 2.0–3.0 เนื่องจากยังขาดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เท่าที่ควร กระบวนการผลิตยังใช้วิธีเดิม คือ พึ่งพาการใช้แรงงานคนหรือเทคโนโลยีเก่า ทำให้ผลิตภาพการผลิตต่ำ (Productivity) รวมถึงอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่จะเป็นแบบรับจ้างผลิต (OEM) และผลิตภัณฑ์เป็นเพียงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นต้นเท่านั้น อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมการผลิตแบบบูรณาการอีกด้วย

แนวทางหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมให้สูงขึ้นของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เหสาะสมและสอดรับกับนโยบายรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรม 4.0 มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ  และหน่วยร่วมดำเนินการอื่นๆ โดยเริ่มจากการประเมินสภาวะภาพรวมของอุตสาหกรรมไทย และศึกษาแนวทางยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศที่เป็นผู้นำเทคโนโลยี เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น และประเทศที่มีการนำวิธีแบบ Turn-Key ในอุตสาหกรรม 4.0 ไปปรับใช้ เช่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ พบว่าประเด็นสำคัญที่หายไปในระบบการพัฒนางานวิจัยของไทย มี 2 ประเด็น คือ 1) โจทย์งานวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไม่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้อาจเกิดจากนักวิจัยไม่เข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรมเองก็ไม่สร้างโจทย์งานวิจัยด้านเทคโนโลยีได้ และ 2) การขาดการบริหารการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่นำผลการศึกษาไปผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ จึงเห็นงานต้นแบบนวัตกรรมมีจำนวนมาก แต่หางานที่ออกมาสู่เชิงพาณิชย์ได้ยาก เพื่อตอบโจทย์ Missing Link ทั้งสองข้อ กลไกสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในรูปแบบ Innovation to Industry Platform เป็นแพลทฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย หน่วยงานการศึกษา ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทุกระดับไปจนถึงผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก ผ่านองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วน ได้แก่ 1) Portal ศูนย์กลางในการประสานงาน สร้างเครือข่าย และเสาะแสวงหาความร่วมมือระหว่างผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลกและระดับประเทศ และเครือข่าย SMEs ในประเทศ 2) Innovation Center ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่าง Global Players และ SMEs รวมถึงการพัฒนาและบ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรม 3) Shared Resource Services แหล่งรวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และกำลังคนที่มีทักษะสูง เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรม 4) Financial Program โปรแกรมและนโยบายสนับสนุนทางการเงิน ผ่านช่องทางต่างๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน สู่ SMEs เพื่อเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตเป็นตัวอย่างสำคัญในการบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ปัญหาและขับเคลื่อนงานวิจัยให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ตั้งแต่การปรับปรุงกระบวนการผลิตผ่านศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรม Learning Factory การเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์โดยมีการเชื่อมโยงทางด้านการตลาด การดำเนินงานทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้ การใช้บูรณาการทรัพยากรต่างๆ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายความร่วมมือ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับบริการได้อย่างเต็มรูปแบบการพัฒนา และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

คำสำคัญ   การปฏิรูปอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรม 4.0, ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ, ศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรม

บทนำ

ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการ “เปลี่ยนผ่าน” ทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี มีการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ มากมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยเป็นแบบรับจ้างผลิต (Equipment Manufacturer: OEM) คือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับเจ้าของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หรือตามแบบที่ลูกค้ากำหนด โดยอาศัยกระบวนการผลิตแบบเดิมที่มีประสิทธิภาพการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการเสียเปรียบทั้งในเรื่องของค่าแรง การหาแรงงานเข้ามาในภาคอุตสาหกรรม

จึงได้มีแนวคิดที่ยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมอนาคต  (S  - Curve และ New S - Curve)  โดยการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ ที่เน้นอุตสาหกรรมศักยภาพ เพื่อการออกแบบตอบโจทย์ความต้องการในตลาดทั่วไปและตลาดเฉพาะกลุ่ม มากกว่าการผลิตสินค้ารูปแบบเดียวในจำนวนมาก ทั้งนี้เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมอนาคตก็คือการปรับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยหลุดพ้นจากการเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาระบบการผลิตที่ใช้เครื่องจักรที่มีนวัตกรรม การนำระบบอัตโนมัติ (Automation System) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต กระบวนการเหล่านี้พัฒนาได้โดยเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ  เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดแนวคิดในการปรับปรุงกระบวนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการทดลองทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยนำงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมกับนวัตกรรมไปพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สอดรับความต้องการตลาดทั้งภายในและภายนอก ซึ่งการดำเนินงานจะมีการประสานงานและร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตแบบบูรณาการ รวมทั้งสาธิตและฝึกอบรมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การให้บริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ เพื่อสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ส่งผลให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่สมดุลของคนในประเทศ พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง โดยเมื่อกล่าวถึงอุปสรรคของงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมนั้น หากไม่นับว่างานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นมาไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้วนั้น งานวิจัยและนวัตกรรมที่ดีหลายชิ้นยังขาดปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ไปสู่ความสำเร็จ ต้องทั้งใช้เวลา ทรัพยากรและงบประมาณอีกจำนวนมาก ทำให้หลายงานวิจัยและนวัตกรรมต่างมาหยุดตรงที่ต้นแบบและการตีพิมพ์ในบทความทางวิชาการต่างๆ  ซึ่งการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ต้องอาศัยการคัดเลือกต้นแบบที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงโอกาสและความคุ้มค่าทางธุรกิจ มีการออกแบบเชิงวิศวกรรมใหม่เพื่อให้ผลิตได้ง่ายขึ้น ต้นทุนต่ำ ตลอดจนมีการออกแบบกระบวนการผลิต การวางสายการผลิต การทำแม่พิมพ์ การหาวัตถุดิบ การหาที่จ้างผลิต การทดสอบ การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทำตลาด เป็นต้น โดยหากเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ล้วนอยู่ในค่าใช้จ่ายของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านั้นทั้งสิ้น ดังนั้นนักวิจัยก็ไม่เดินหน้า ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีบุคลากรน้อย ไม่สามารถมาดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวได้ ทั้งหมด อีกทั้งต้องใช้ประสบการณ์ ใช้เวลาในการดำเนินการมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ตลอดจนมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวอีก จึงไม่อยากที่จะลงทุนด้านนวัตกรรม  

แต่ว่านวัตกรรมนั้นกลับเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ถึงแม้ว่านโยบายนี้ จะมีทิศทางการพัฒนาประเทศที่ดี แต่จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนหัวใจสำคัญ คือ การบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมของประเทศ รองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในลักษณะบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะการทำงานร่วมแบบ Triple Helix และขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน ในลักษณะการทำงานร่วมแบบ Quadruple Helix ได้

บทความนี้เสนอการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทยตอบสนองนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อุตสาหกรรม หรือ Learning Factory สนับสนุนและส่งเสริมให้ SMEs สามารถมีนวัตกรรมและพัฒนานวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมการดำเนินโครงการในการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในต่างประเทศ และสถานการณ์อุตสาหกรรมในประเทศไทย

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในต่างประเทศจะมีรูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยประเทศต่างๆ ล้วนมีนโยบายจัดให้มีการศึกษาอย่างแพร่หลายแก่ประชาชนทั่วไป เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องอาศัยประชากรที่มีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ ผู้จัดการธุรกิจหรือพลเมือง แรงงานที่มีการศึกษาสูงขึ้นทำให้เกิดผลิตภาพแรงงานที่สูงตามไปด้วย ทั้งนี้การสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1) การทำให้สินค้าของตัวเองมีราคาถูกในตลาดโลก ประเทศที่ใช้แนวทางนี้มักใช้วิธีการลดค่าเงินให้ถูกลง และ 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งประเทศรายได้สูงอย่าง เยอรมัน สิงคโปร์ สวีเดน และญี่ปุ่น ล้วนมีนโยบายแบบบูรณาการ ที่รวมการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และการศึกษา มาเป็นนโยบายเดียวกัน

เยอรมันกับแรงงานคุณภาพ เมื่อ 70 ปีที่แล้ว เป็นประเทศพ่ายแพ้สงคราม ประเทศถูกทำลายจนราบคาบ แต่ทุกวันนี้ เยอรมันเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและใหญ่ที่สุดของยุโรป รายได้ต่อหัวของประชนชนอยู่ที่ 48,200 ดอลลาร์ ยอดส่งออกมีมูลค่า 1.2 ล้านล้าน/ปี ค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย 8.84 ยูโร/ชั่วโมง ความเสียหายจากสงครามทำให้ภาคส่วนต่างๆ ผนึกกำลังเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจประเทศ ที่ต่อมากลายเป็นพันธะข้อผูกพันที่เรียกกันว่า “หุ้นส่วนทางสังคม” (social partners) ประกอบด้วย นายจ้าง แรงงาน และรัฐบาล หุ้นส่วนไตรภาคีนี้จะดำเนินการร่วมกันในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆ แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นด้านการศึกษาเยอรมันคือ ระบบการพัฒนาทักษะฝีมือนักเรียน ที่ใช้บังคับกับนักเรียนทั้งหมด ยกเว้นนักเรียนที่จะศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ในปี 1869 เยอรมันมีแนวการปฏิบัติให้นายจ้างส่งพนักงานให้ไปศึกษาต่อ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและฝึกงานมากขึ้น สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของระบบการศึกษาแบบคู่ขนาน (dual education) ที่ประกอบด้วยการเรียนกับการฝึกงาน โดยรัฐบาลกับนายจ้างรับผิดชอบร่วมกันในการดำเนินงาน

ในปี 1938 เยอรมันมีกฎหมายฉบับแรกเรื่อง ระบบการฝึกงานด้านอาชีวศึกษา โดยกำหนดให้การศึกษาด้านอาชีวะต้องมีการฝึกงาน กฎหมายนี้ทำให้การศึกษาแบบคู่ขนานเป็นแบบภาคบังคับที่ใช้กับนักเรียนสายอาชีวะทั้งหมด ในปี 1969 เยอรมันมีกฎหมายชื่อ การฝึกงานด้านอาชีวะ (Vocational Training Act of 1969) กำหนดให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมและไม่ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นนักเรียนฝึกงานในหลักสูตรวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ที่มีทั้งหมด 480 หลักสูตร

 

รูปที่ 1 ระบบการศึกษาแบบคู่ขนาน (dual education) ของเยอรมัน (ปรีดี บุญซื่อ,ออนไลน์,2560)

      ประเทศญี่ปุ่นกับการสร้างแรงงานฝีมือ ญี่ปุ่นก็มีสภาพคลายกับเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกทำลาย แต่หลังสงคราม ปัจจัยที่สร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ก็เป็นปัจจัยเดียวกันที่สร้างความสำเร็จให้กับเยอรมนี การฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ได้มาจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่เท่านั้น แต่ญี่ปุ่นยังสร้างสถาบันสังคมที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มุ่งสู่การผลิตสินค้ามีคุณภาพและมูลค่าสูง สถาบันสังคมดังกล่าวมีความหมายแบบเดียวกับที่เยอรมนีเรียกว่า “หุ้นส่วนทางสังคม

ความร่วมมือและฉันทานุมัติระหว่างหุ้นส่วนทางสังคมดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่นมีเป้าหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงถูก ญี่ปุ่นไม่มีระบบการกำหนดค่าแรงระดับชาติแบบเดียวกับเยอรมนี แต่ญี่ปุ่นมีเป้าหมายต้องการให้ค่าแรงในประเทศสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องหันไปใช้กลยุทธ์การผลิตสินค้าคุณภาพสูง และหาทางให้ธุรกิจสามารถมีผลกำไรจากสภาพที่ค่าแรงในประเทศสูง

หน่วยงานรัฐของญี่ปุ่น คือ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ หรือ MITI จะเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ของอนาคตญี่ปุ่น โดยผ่านการปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจและแรงงาน MITI ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1927 ญี่ปุ่นและเยอรมนีมีวิธีที่แตกต่างกันในการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ แต่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับอุตสาหกรรมที่จ้างงาน เช่น โตโยต้าจะให้พนักงานใหม่เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 2 ปี ในเรื่อง ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนที่จะเข้าไปทำงานในโรงงาน เป็นต้น

          รูปที่ 2 ระบบการฝึกงานแก่พนักงานใหม่ของ Toyota (ปรีดี บุญซื่อ,ออนไลน์,2560)

กล่าวโดยสรุป ความสำเร็จของญี่ปุ่นเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น หุ้นส่วนทางสังคมเห็นพ้องที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมจากการแข่งขันด้านคุณภาพ ระบบการจ้างงานจนเกษียณ ผลประโยชน์ของคนงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผลประโยชน์องค์กร ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง การลงทุนอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเพื่อพัฒนาทักษะคนงาน และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหารที่อาศัยการปรึกษาหารือ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสะท้อนอยู่ในเนื้อหาและการทำหน้าที่ของคนญี่ปุ่นในองค์กรต่างๆ

การวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมไทย ในช่วงแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution) โดยช่วงทศวรรษแรกที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ (.. 2504-2514) มีโครงการลงทุนเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการลงทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศและของผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีการขยายตัวในอัตราสูงควบคู่กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (.. 2515) เป็นต้นมา สินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทำให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ทำรายได้จากการส่งออกของประเทศแทนภาคการเกษตร แม้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละปี แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ตั้งแต่ปี พ.. 2530 ถึงปี พ.. 2540 ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก เฉลี่ยคิดเป็นกว่าร้อยละ 10 ต่อปี แต่ภาคอุตสาหกรรมมีการชะลอตัวลงไปมากหลังการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในปี พ.. 2541 มีอัตราการเจริญเติบที่ติดลบกว่าร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามการผลิตและการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมมีการพื้นตัวขึ้นมาหลังจากนั้นแต่ก็ชะลอตัวลงไปมาก

โครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยใน 5-10 ปีข้างหน้า หากพิจารณาจากโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน พบว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ 1. อาหาร 2. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 3. ยานยนต์และเครื่องจักรกล 4. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า 5. ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ นอกจากอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเฟอร์นิเจอร์ ในช่วงเวลา 5-10 ปีข้างหน้า โครงสร้างของอุตสาหกรรมในประเทศไทยคงไม่แตกต่างไปจากปัจจุบันมากนัก แต่อาจคาดการณ์ได้ว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมใน 10 ปีข้างหน้า จะเป็นไปในทิศทางที่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และเครื่องจักรกล รวมทั้งอุตสาหกรรมหนักบางประเภท เช่น ปิโตรเคมีและเหล็กจะมีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น อาหาร สิ่งทอ และเครื่องหนัง จะลดความสำคัญลง

อย่างไรก็ตาม หากมีนโยบายและมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ชัดเจน โครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะแตกต่างไปจากนี้ การจะพิจารณาว่า ประเทศไทยควรเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใดนั้น ต้องดูว่าอุตสาหกรรมใดที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่าเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งนอกจากการตรวจสอบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมไทยแล้ว ยังต้องพิจารณาว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร หรืออีกนัยหนึ่ง จากจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบที่มีอยู่ จะสร้างโอกาสแก่อุตสาหกรรมได้อย่างไรหากดูเพียงแนวโน้มการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง แม้ยังมีการเจริญเติบโตในการผลิตและการส่งออก แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยของสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลกและในตลาดสำคัญๆ กลับมีแนวโน้มลดลง ในทางตรงกันข้าม สินค้าประเภทวิศวการ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ กลับมีการขยายตัวทางด้านการผลิตและการส่งออกในอัตราที่สูงกว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจทำให้เราสรุปว่า ประเทศไทยกําลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labor-intensive industries) แต่กลับมีความสามารถการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมวิศวการ ดังนั้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในอนาคตจึงควรเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มวิศวการมากกว่า   

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ได้กำเนิดขึ้นเมื่อเครื่องจักรไอน้ำได้ถูกคิดค้นขึ้นและเป็นต้นกำเนิดของเครื่องยนต์สันดาปภายในอันเป็นที่มาของยานพาหนะในปัจจุบัน เมื่อปี ค.ศ. 1784 ขณะที่การปฏิวัติครั้งที่ 2 ในช่วงปี ค.ศ. 1870 ให้กำเนิดระบบไฟฟ้าและมีการนำมาใช้ในสายพานการผลิต ส่วนการปฏิวัติครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1970 หลังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ได้ถูกพัฒนาจนสามารถควบคุมการเครื่องจักรในกระบวนการผลิตได้  ปัจจุบันโลกอุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี Internet และอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงเครื่องจักรเข้าสู่ Internet ได้ ส่งผลให้เกิดการสื่อสารเชื่อมโยง (Connected) ระหว่าง คนกับเครื่องจักร หรือ เครื่องจักรกับเครื่องจักร ยกระดับการผลิตให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นดังรูปที่ 3

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี Digital ในปัจจุบันนี้เอง ส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Digital เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจที่นำไปสู่การทำธุรกิจแบบ Network Business ภายใต้การเชื่อมโยงของการทำธุรกิจทั้งการผลิตการค้า การบริการและการส่งมอบสินค้า/บริการให้กับผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเองทั้งหมด (Separation) มาสู่การดำเนินธุรกิจที่ต้องอาศัยพึ่งพาได้เชื่อมโยงธุรกิจอื่น (Interaction) ส่งผลให้รูปแบบการทำธุรกิจพัฒนาไปสู่ การผลิตและบริการที่เน้น Mass product มาเป็น Mass Customization และพัฒนาไปสู่การทำธุรกิจที่เน้นลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง (Personalization in context) โดยที่จะทำเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถึงระดับบุคคลโดยการจะทำ Mass Customization ได้นั้นธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการแบ่งขั้นตอนการดำเนินงาน ของธุรกิจออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ หรือ Unbundling Process ให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการทำธุรกิจเพื่อความสะดวกในการเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับธุรกิจอื่นๆ โดยอาศัยข้อได้เปรียบของเทคโนโลยี Digital ในปัจจุบัน ซึ่งการทำ Unbundling Process ไม่เพียงแต่จะทำให้ธุรกิจสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นได้โดยง่ายเท่านั้นแต่ยังเป็นการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตสินค้าและบริการให้แข่งขันได้กับธุรกิจ Digital อื่นๆ ได้

                   รูปที่ 3: การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ถึง 4 (BCM, 2015)

นโยบายประเทศไทย 4.0

จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี Digital (Digitalization)  และสภาวะของโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทรัพยากรและแรงงาน การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging Society)  และการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของผู้คนในด้านการดำรงอยู่ การดำเนินธุรกิจ การทำงาน และการเรียนรู้ (กองบริหารงานวิจัยฯ, 2559) ทำให้หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ เช่น A Nation of Maker ของสหรัฐอเมริกา Design in Innovation ของสหราชอาณาจักร Made in China 2025 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน Make in India ของอินเดีย Smart Nation ของสิงคโปร์ Creative Economy ของเกาหลีใต้ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นในเรื่องการพัฒนาสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกลไกประชารัฐ ทำให้ประเทศก้าวไปสู่ ประเทศไทย 4.0 อันเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในยุคที่การผลิตเชิงอุตสาหกรรม (Mass Production) ทำงานในลักษณะของการทำมากได้น้อย เน้นการแข่งขันด้วยราคาและค่าแรงที่ต่ำ ส่งผลให้ติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลาง จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงการค้าและบริการ ให้มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อให้ธุรกิจทำน้อยได้มาก ดังแสดงในรูปที่ 4

รูปที่ 4 นโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) (Thai Trade Center, 2016) 

ในช่วงต้นของการขับเคลื่อนประเทศไทย 3.0 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 7-8 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการคาดหวังว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่การเร่งการเติบโตนี้ เป็นไปอย่างเปราะบาง เนื่องจากไม่มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ขาดการสะสมทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทุนมนุษย์ เพิ่งพาเทคโนโลยีและการลงทุนของต่างชาติ ในโลกของการแข่งขัน เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศนั้น จำเป็นจะต้องยกเครื่องกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสียใหม่ เน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ แทนการเน้นทรัพยากรพื้นฐาน ทำให้ประเทศไทยต้องมีกลไกสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ SMEs ที่มีอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมอยู่เป็นทุนเดิมแล้วสามารถปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation) ในก้าวกระโดดไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันได้

ขั้นตอนและอุปสรรคในการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

การผลักดันให้นวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ เริ่มจากการนำเอางานวิจัยและพัฒนามาวิเคราะห์คัดกรองความเป็นไปได้ทางการตลาดเบื้องต้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การคัดเลือกวัสดุ การออกแบบเพื่อการผลิต  การทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การวิเคราะห์ทดสอบ การหาที่จ้างผลิต การทดสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทำตลาด ดังแสดงในรูปที่ 5 โดยขอบเขตในส่วนบนเป็นด้านงานวิจัยและพัฒนา(R&D Scope) ที่มักถูกดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ในขณะที่พื้นที่ส่วนล่าง (Private Sector Scope)  ปัจจุบันเป็นส่วนที่ภาคเอกชนเข้ามาเลือกงานวิจัยต้นแบบที่ผ่านการทดสอบตลาดและมาตรฐานต่างๆ เรียบร้อยแล้วไปดำเนินการต่อ ปัญหาที่พบในระบบ (Missing Link) นี้ มี 2 จุดที่ทำให้กระบวนการไม่ต่อเนื่องกันคือ

1. ปัญหาจากการพัฒนางานวิจัยไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เกิดจากฝั่งวิจัยกับฝั่งอุตสาหกรรมมีความต้องการและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ฝั่งวิจัยต้องการงานวิจัยที่สามารถเผยแพร่เป็นผลงานในต่างประเทศทำให้ผลงานตอบสนองความต้องการในตลาดสากลและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม ในขณะที่ฝั่งอุตสาหกรรมกลับติดอยู่ภายใต้การผลิตแบบรับจ้างผลิตตามแบบ (Original Equipment Manufacturer) ไม่จำเป็นต้องพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ เน้นการพัฒนาการผลิตที่ลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

2. ปัญหาจากค่าใช้จ่ายและเทคโนโลยีในการยกระดับการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์สูงและใช้ทรัพยากรมาก ทำให้ฝั่งวิจัยเมื่อได้ผลงานที่สามารถเผยแพร่ติพิมพ์แล้ว พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายและเป้าหมายก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้ก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ไม่กล้าที่จะเสี่ยงเข้ามาลงทุนในการพัฒนาต่อยอด ทำให้หลายงานวิจัยหยุดอยู่บนหิ้งหรือถูกนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่างชาติที่มีเงินทุนสูงได้

ปัญหาดังกล่าวได้ถูกมองเห็นและแก้ไขปัญหาจากทางภาครัฐ เช่น 1. การให้ทุนวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของภาคเอกขน 2. การลงทุนสร้างสถานที่ให้วิจัยและทดลองผลิตตามอุทยานวิทยาศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ และ 3. การลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบกลาง เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดำเนินการทำมาแล้วกว่า 15 ปี แต่ทำไมถึงขับเคลื่อนได้อย่างล่าช้า นั่นก็เพราะหัวใจสำคัญที่ต้องทำ คือ การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะการทำงานร่วมแบบ Triple Helix นั่นเอง

             รูปที่ 5 ขั้นตอนและอุปสรรคในการผลักดันให้นวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์

แพลทฟอร์มที่บูรณาการทำงานของหน่วยงาน

การวางระบบการบริหารงานราชการแบบบูรณาการและการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะการทำงานร่วมแบบ Triple Helix เป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากเป็นการกระจายอำนาจของรัฐไปสู่การทำงานแบบกระทรวง ทบวง กรม ทำให้แต่ละหน่วยงานมีภารกิจเฉพาะทางและจุดเด่นคนละด้านที่ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ ดังรูปที่ 5 โดยจากรูปส่วนบนด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D Scope) นั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนชัดเจน ในขณะที่ขอบเขตส่วนล่าง (Private Sector Scope) หน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนชัดเจนเช่นกัน แต่ว่าพื้นที่ส่วนกลาง หลายครั้งที่หน่วยงานรัฐพยายามจะเข้ามาผสานรอยต่อดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จดีเท่าที่ควร ตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างการบูรณาการ เช่น หน่วยงาน Advanced Remanufacturing and Technology Centre (ARTC) ประเทศสิงคโปร์ ได้สร้างแพลทฟอร์มที่ทำให้เกิดความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อ ขับเคลื่อนงานวิจัยระดับโลกไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยใช้ทีมนักวิจัยจาก A*STAR และ Nanyang Technical University (NTU) พัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม มีบริษัทชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมลงทุนและวิจัยพัฒนา อีกทั้งยังสร้างให้เกิด Start up ขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย องค์ประกอบของโรงงานต้นแบบของประเทศสิงค์โปร์ในรูปที่ 6 นั้น ประกอบด้วย ส่วนที่ให้ประสบการณ์ในการทดลองเรียนรูป  กระบวนการผลิตที่ได้ปรับปรุง และพื้นที่ทำงานร่วมระหว่างนักวิจัยกับผู้ใช้งาน ซึ่งแพลทฟอร์มคล้ายๆ กันนี้ ก็ได้ใช้งานในประเทศชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี โดยตั้งชื่อหลายหลายแบบ เช่น Learning Factory, Center for Industrial Productivity หรือ Digital Capability Center เป็นต้น

รูปที่  6   โรงงานต้นแบบสำหรับ Building  Capability  for the Future ( MIT, 2017)

สำหรับในประเทศ แพล์ทฟอร์มปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (SME Transformation) ได้ถูกออกแบบผ่านความร่วมมือของหน่วยงาน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกันหาแพลทฟอร์มในการสร้างความร่วมมือตามโครงการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ผ่านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยุค 4.0 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 โดยออกแบบพัฒนาและวิเคราะห์หาองค์ประกอบที่สำคัญ เกิดเป็น Innovation to Industry Platform (i2i)  หรือ   i-square platform ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ส่วน ได้แก่

1) Portal ศูนย์กลางในการประสานงาน สร้างเครือข่าย และเสาะแสวงหาความร่วมมือระหว่างผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลกและระดับประเทศ และเครือข่าย SMEs ในประเทศ

2) Innovation Center ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่าง Global Players และ SMEs รวมถึงการพัฒนาและบ่มเพาะให้เกิดนวัตกรรม

3) Shared Resource Services แหล่งรวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ และกาลังคนที่มีทักษะสูง เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรม

4) Financial Program โปรแกรมและนโยบายสนับสนุนทางการเงิน ผ่านช่องทางต่างๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน สู่ SMEs เพื่อเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

รูปที่  7   Innovation to Industry  Platform

แพลทฟอร์ม i-square มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทำให้ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก (Global Player) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ (LEs) มาช่วยในการพัฒนานวัตกรรมผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ SMEs และ Start ups ผ่านองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วน และเพื่อให้แพลทฟอร์มดังกล่าว เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการดำเนินงานเป็นศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560

การประยุกต์ใช้แพลทฟอร์มด้วยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต

จากเดิมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ Industry Transformation Center (ITC) เปรียบเสมือนข้อต่อกลางที่จะเข้ามาช่วย SMEs ที่ไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากรด้านวิศวกรรม ขาดประสบการณ์และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิต โดยศูนย์ฯ เข้ามาร่วมพัฒนาและผลักดันให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมหรืองานวิจัยให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะช่วยเหลือสถานประกอบการตั้งแต่ การวิเคราะห์และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ การให้บริการทางวิศวกรรม การหาผู้รับจ้างผลิต ทำทดสอบและรับรองมาตรฐาน การทดสอบตลาด เป็นต้น  เปรียบได้กับผู้ช่วยทางวิศวกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งยังบ่มเพาะให้ผู้ประกอบการ สามารถนำไปพัฒนาและดำเนินธุรกิจได้เองต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย โดยอาศัยความชำนาญทางการออกแบบและวิศวกรรมของสถาบันเครือข่ายและเครือข่ายผู้ประกอบการจากสมาคมเครือข่ายอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ มาให้บริการแก่ภาคเอกชน มีการแชร์เครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ มาให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเครื่องจักรก่อนที่จะได้ผลิตภัณฑ์ และยังมีความช่วยเหลือต่างๆ ผ่านโครงการของภาครัฐ รวมถึงสินเชื่อพิเศษต่างๆ อีกด้วย

สำหรับในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น มีแนวทางปฏิรูปอุตสาหกรรมนั้นอยู่ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. การปฏิรูปนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Product Transformation for SMEs)

2. การปฏิรูปกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Digital Transformation for SMEs)

3. การปฏิรูปการพัฒนาบุคลากรสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านกระบวนการของโรงงานแห่งการเรียนรู้ (People Transformation for SMEs)

ภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต มีพื้นที่ Co-working space ให้นักวิจัยและผู้ใช้งานภาคอุตสาหกรรมได้มาทำงานร่วมกัน มีเครื่องจักรทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติที่ทันสมัย (รูปที่ 8 และ รูปที่ 9) เครื่องจักรในการขึ้นรูปชิ้นงานทั้งโลหะ พลาสติก คอมโพสิท และไม้ อาคารแสดงนิทรรศการนวัตกรรมและฝึกอบรมอบรม เหมาะแก่การเป็นสถานที่ให้นักนวัตกรรมมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีอาคารที่จัดให้เป็น Learning Factory ร่วมกับบริษัท Denso ประเทศญี่ปุ่น ในการเป็นโรงงานต้นแบบในเรื่องของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

 

รูปที่ 8 ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต ถนนพระราม 4 กล้วยน้ำไท



รูปที่ 9 เครื่องจักรที่อยู่ในอาคารต้นคิดสตูดิโอ ศูนย์ ITC กล้วยน้ำไท  

ตั้งแต่เปิดศูนย์ ITC จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ารับเยี่ยมชมและรับการบริการ 20,000  คน มีผู้นำว่าจ้างผลิตต้นแบบกว่า 100  ชิ้นงาน มีผู้นำผลิตภัณฑ์มาให้ออกแบบและพัฒนากว่า 50  งาน มีบริษัทขนาดใหญ่ (LEs & GPs) ขอร่วมกิจกรรมกว่า 10  โครงการ จัดงานประกวดนวัตกรรม ITC Award 2  ครั้ง


ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC) ในปัจจุบัน

ศูนย์ ITC ในปัจจุบันได้ใช้ชื่อเป็น ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC)”  ใช้แพลทฟอร์มที่บูรณาการทำงานของหน่วยงาน มาดำเนินการลงไปกับสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างกระทรวงและสถาบันเครือข่ายต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของการทำให้กลไกการทำงานแบบบูรณาการเป็นไปอย่างประสบความสำเร็จ ก้าวต่อจากนี้จำเป็นต้องผลักดันในการทำองค์กรให้ยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบันศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC) ใช้การดำเนินงานร่วม 3 กระทรวง แต่ในทางนิติบุคคลใช้โครงสร้างของสถาบันเครือข่ายที่เป็นมูลนิธิ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงาน และงบประมาณก็ใช้การดำเนินงานในลักษณะของโครงการประจำปีเท่านั้น  ทำให้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการบริหารก็จะทำให้ความร่วมมือต่างๆ หมดไป สิ่งสำคัญคือต้องรีบหาวิธีการที่จะพัฒนาให้เกิดเป็นองค์กรบริหารร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีรูปแบบให้สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภายใต้ พรบ. องค์กรมหาชน กิจการเพื่อสังคม มูลนิธิ บริษัท เป็นต้น  ทั้งนี้ การเลือกรูปแบบที่เหมาะสม ต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถประสานงานได้ระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ  โดยจำเป็นต้องศึกษาและรีบขยายผลให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นจะการทำศูนย์ DIPROM ITC ต้นแบบดังกล่าว จะเป็นเพียงโครงการนำร่องและหายไปในระยะสั้นเท่านั้นเอง

 สรุป

      ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม DIPROM Industry Transformation Center (DIPROM ITC) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ เช่น หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม นักพัฒนานวัตกรรม อันเป็นกลไกรูปแบบใหม่อย่างหนึ่งของการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs   ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์ และทำให้ธุรกิจนั้นสามารถปรับเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เพื่อให้ก้าวไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ประสานความร่วมมือกับผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก หรือ Global Players รวมถึงวิสาหกิจขนาดใหญ่ให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไปข้างหน้า โดยใช้ชื่อแพลทฟอร์มนี้ชื่อว่า Innovation to Industry Platform ประกอบด้วย 1) Portal ศูนย์กลางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลก และระดับประเทศและเครือข่าย SMEs ไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ การพบปะและหารือกับ LEs หรือ SMEs ของไทยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ชักจูงให้เกิดการลงทุนในศูนย์ฯเพื่อพัฒนาให้ SMEs มีศักยภาพเพิ่มขึ้น 2) Innovation Center ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆระหว่าง Global Players และ SMEs รวมถึงการพัฒนาและบ่มเพาะให้เกิดงานวิจัยและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ 3) Shared Resource Services แหล่งรวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ และกำลังคนที่มีทักษะสูงเพื่อ สรรค์สร้างนวัตกรรม โดยจัดให้มี Co-Working Space ให้คนเข้ามาติดต่อใช้บริการ Inspiration Galley การแสดงผลงานที่ประสบความสำเร็จ Workshop ให้คนมาสร้างต้นแบบ Learning Factory ให้คนมาทดลองเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และ 4) Financial Program  โปรแกรมและนโยบายสนับสนุนทางการเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน สู่ SMEs เพื่อเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นแนวการยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะความร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยกระดับอุตสาหกรรมนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เป็นการสนับสนุนงบประมาณ แต่เป็นการสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านหน่วยงานและบุคลากร เพื่อสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านการปรับปรุงกระบวนการผลิตและเพิ่มทักษะกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยแต่ละหน่วยงานต่างสนับสนุนกันในสิ่งที่ยังขาดเพื่อช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในเวทีสากลอย่างยั่งยืน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

บรรณานุกรม

Adecco. (2015). An Adecco Preview of the 2015 Labour Market. Bangkok, Thailand.

McClelland , D.C. (1973) . Test for Competence, rather than intelligence. American

Psychologists. Vol.17 No.7 P.57-83.

BCM. “What is Industry 4.0?”.  Industry Insight Blog. 25(June). Retrieved January 24, 2018. (online) Available:  https://bcmpublicrelations.com/blog/what-is-industry-4-0/. 2015.

Claudia Goldin & Lawrence Katz. The Race between Education and Technology, The Belknap Press of Harvard University Press, 2008.

Mckincey & Company.  “Developing digitized industry leaders”. 2017

Ministry of Trade and Industry (MTI) Singapore, Building Capabilities for the Future. 3(March). Retrieved January 24, 2018 (online) Available: https://www.mti.gov.sg/MTIInsights/Pages/COS-2017-Building-Capabilities.aspx. 2017.

 Ray Marshall & Marc Tucker. Thinking for a Living: Education and the Wealth of Nations, Basic Books, 1992.

Thai Trade Center. “Infographic: Thailand 4.0 Transforming towards the Value-Based Economy” News 27(September). Retrieved January 24, 2018 (online) Available: http://www.thaitradeusa.com/home/?p=21763, 2016

กรมการจัดหางาน, กองแผนงานและสารสนเทศ.(2546). การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2554. กรุงเทพมหานคร

 กองบริหารงานวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา, “พิมพ์เขียว Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน”, พฤศจิกายน 2559

 เคลาส์ ชวาบ, “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4, The Fourth Industrial Revolution”, Amarin How to, 2561

 นางสาวหรรษา โอเจริญ.  “ ปัจจัยที่มีผลต่อการสู่ตลาดแรงงานของนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา”.  ศูนย์ข้อมูลตลาดแรงงาน , กรมการจัดหางาน, 2560.

 ประจักษ์ ทรัพย์อุดม . (2550). แนวทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย Competency. กรุงเทพฯ : เอกสารอัดสำเนา.

 พลเอก วิลาศ อรุณศรี, เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการจัดทายุทธศาสตร์ชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.  บรรยายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร,  2559

 รุ่งอรุณ พรเจริญ.  “การศึกษาวิจัยตลาดแรงงานกับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0”คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.พระนคร , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, 2559.

 สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย.  “ อนาคตของอุตสาหกรรมไทย”.  วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 สิงหาคม 2558.

 

ดาวน์โหลด(Download)บทความฉบับเต็ม

Jirasak

ผู้ประกาศข่าว



0 ความคิดเห็น:

Distributed By My Blogger Themes | Designed By Bloggertheme9